โพลิเมอร์ประจุบวก โพลิเมอร์แคทไอออน, Polymer Cation, Cationic Polymer
กระบวนการโคแอกกูเลชันเป็นกระบวนการประสานคอลลอยด์ ซึ่งเป็นสารแขวนลอยขนาดเล็กที่ตกตะกอนได้ช้ามาก คอลลอยด์มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-1 นาโนเมตร ซึ่งไม่สามารถแยกตัวออกจากน้ำได้โดยวิธีตกตะกอนตามธรรมชาติเนื่องจากอนุภาคของคอลลอยด์มีขนาดเล็กเกินไป หลักการของกระบวนการโคแอกกูเลชัน คือ การเติมสารโคแอกกูแลนด์ (Coagulant) เช่น สารส้ม (Aluminium Sulfate Al2(SO4)3.18H2O) ลงไปในน้ำเสียทำให้คอลลอยด์หลายๆอนุภาคจับตัวกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า ฟล็อก (Floc) จนมีน้ำหนักมากและสามารถตกตะกอนลงมาได้รวดเร็ว สารโคแอกกูแลนด์ทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวประสานให้อนุภาคมารวมตัวกันเป็นฟล็อก ส่วนประกอบสำคัญของกระบวนการโคแอกกูเลชัน มี 2 ส่วน คือ ถังกวนเร็ว และถังกวนช้า ถังกวนเร็วเป็นที่เติมสารเคมีและเป็นทางเข้าของน้ำเสีย สารเคมีและน้ำเสียจะผสมกันทันทีอย่างรวดเร็วในถังนี้ ส่วนถังกวนช้า เป็นที่สำหรับกระบวนการสร้างฟล็อก (Flocculation) ที่เกิดจากการรวมตัวของอนุภาคคอลลอยด์ เพื่อส่งไปตกตะกอนในถังตกตะกอนซึ่งอยู่ตามหลังถังกวนช้า หรืออาจรวมอยู่ในถังเดียวกันกับถังกวนช้า อนุภาคคอลลอยด์ที่ไม่ถูกบำบัดโดยถังตกตะกอน จะถูกส่งต่อไปบำบัดในถังกรอง น้ำที่ออกจากถังกรองจึงมีความใสสูงมาก นอกจากนี้ยังสามารถเติมสารโคแอกกูแลนต์เอด (Coagulant Aid) เป็นสารเคมีประเภทโพลิอิเล็กโทรไลต์ (Polyelectrolyte) ซึ่งเป็นสารโพลิเมอร์ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง โดยโคแอกกูแลนต์เอดทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอนุภาค หรือฟล็อกให้เกิดเป็นฟล็อกขนาดใหญ่ และตกตะกอนได้ง่าย สารโพลิอิเล็กโตรไลต์ที่ใช้ในกระบวนการโคแอกกูเลชัน อยู่ 3 ประเภท ได้แก่
- โพลิเมอร์ประจุบวก (Cationic Polymer)
- โพลิเมอร์ประจุลบ (Anionic Polymer)
- โพลิเมอร์ที่ไม่มีประจุ (Non Ionic Polymer)